แค่ตู้แช่ต้องจริงจังขนาดนี้? Sanyo ติดเซ็นเซอร์วัดความชื้น-อุณหภูมิ ส่งข้อมูลผ่านออนไลน์
หลายคนต้องเคยหยิบของจากตู้แช่ตาม Supermarket หรือ Convenience Store แต่รู้หรือไม่ว่า ตู้แช่เหล่านั้นพัฒนาไปถึงระดับ Internet of Things (IoT) แล้ว ผ่านการส่งข้อมูลต่างๆ เพื่อทำให้สินค้าในนั้นสดอยู่ตลอดเวลา
ไม่ใช่แค่ตู้แช่ แต่คือตู้แช่อัจฉริยะ
เมื่อเทรนด์โลกกำลังเดินไปที่ IoT สินค้า และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราคุ้นชินกันก็จะไปในทิศทางนี้ด้วย ผ่านการยกระดับให้อุปกรณ์เหล่านี้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อส่งข้อมูลออกไปได้ และวันนี้มันก็ถูกใช้จริงในอุปกรณ์ตู้แช่ตาม Supermarket และ Convenience Store ต่างๆ ของแบรนด์ Sanyo S.M.I. แล้ว
วรฉัตร เสนีวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันโย เอส. เอ็ม. ไอ. (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องเย็นระดับธุรกิจ เล่าให้ฟังว่า เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาท การยกระดับสินค้าของบริษัทด้วยสิ่งนี้จึงจำเป็น และการนำระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความชื้น กับอุณหภูมิ ก็ช่วยป้องกันความเสียหายของสินค้าในตู้แช่ได้
วรฉัตร เสนีวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันโย เอส. เอ็ม. ไอ. (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับการพัฒนาตู้แช่แบบต่างๆ ให้รองรองรับ IoT ทาง Sanyo S.M.I. ได้ร่วมมือกับบริษัท ซีซีเอ็ม ซิสเต็มส์ จำกัด เพื่อนำเทคโนโลยี Jasper ของยักษ์ใหญ่ด้าน Network อย่าง Cisco มาทำให้ระบบเซ็นเซอร์ที่บริษัทเองมีอยู่แล้ว สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และรายงานข้อมูลต่างๆ ไปที่ศูนย์กลางได้
ป้องกันการเสียหาย เพิ่มโอกาสธุรกิจ
“จุดเริ่มต้นมาจากลูกค้าต้องการรู้ว่าอุณหภูมิ และความชื้นในตู้แช่เป็นอย่างไร เพื่อรักษาของในตู้ให้อยู่ในสภาพดีที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องระบบแพลตฟอร์มที่เราไม่เชี่ยวชาญนัก ทำให้การหาพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วยเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องกว่าทำเอง ซึ่งสุดท้ายผลลัพท์มันก็ออกมาค่อนข้างน่าพอใจ เพราะช่วยรักษาโอกาสธุรกิจของร้านค้าเอาไว้”
ตัวแผงวงจรที่ใช้อ่านค่าความชื้น และอุณหภูมิ และส่งข้อมูลไปที่ศูนย์กลาง ผ่านการใช้ซิม Jasper ของ Cisco ในกรณีที่ไม่มีสัญญาณไวไฟ
ค้าปลีกที่นำตู้แช่ดังกล่าวไปติดตั้งให้บริการคือ Max Valu ที่ปัจจุบันมี Supermarket กับร้านขนาดใหญ่กว่า Convenience Store เล็กน้อยในชื่อ “ทันใจ” รวมสาขาทั้งหมด 83 แห่ง ซึ่งทุกตู้แช่ ตั้งแต่ผักผลไม้ จนไปถึงเนื้อสัตว์ จะถูกส่งข้อมูลความชื้น และอุณหภูมิ มาที่ศูนย์กลางของ Sanyo S.M.I. เพื่อเฝ้าดูความผิดปกติตลอด 24 ชม.
ต่อยอดค้าปลีกรายอื่นรับอุตสาหกรรม 4.0
อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่ Max Valu แต่ทาง Sanyo S.M.I. ก็เตรียมรุกตลาดค้าปลีกอื่นๆ เช่นกลุ่ม Tesco Lotus เพราะเชื่อว่าการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ในตู้รุ่นเก่า หรือซื้อตัวบริการบริหารจัดการตู้แช่ใหม่ ก็เพิ่มต้นทุนเพียงหลักหมื่นบาท แต่ได้การันตีเรื่องโอกาสทางธุรกิจ เพราะมีคนเฝ้าตลอด 24 ชม. และรับกับอุตสาหกรรม 4.0 ด้วย
ห้อง War Room ที่ใช้ Monitor ตู้แช่ต่างๆ ใน Max Valu และพร้อมส่งทีมงานไปแก้ไขตลอด 24 ชม.
สรุป
ถ้าตู้แช่ไม่เสีย โอกาสการขายก็เพิ่มขึ้นทันที และร้านค้าก็ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ สามารถเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้ ยิ่งปัจจุบันการขายตู้แช่ไม่ได้เป็นการขายขาด แต่เป็นการขายพร้อมบริการดูแล ดังนั้นจะดีกว่าไหม ถ้ามีคนคอยดูแลตลอด และรู้ก่อนว่าตู้จะเสีย และส่วนตัวมองว่า การนำอุปกรณ์ไปติดตั้งในอุตสาหกรรมอื่นๆ จะเกิดมากขึ้นในเร็วๆ นี้แน่
ที่มา : https://brandinside.asia/sanyo-fridge-go-iot/