การใช้งานและบำรุงรักษาตู้แช่เย็น

การใช้งานและบำรุงรักษาตู้แช่เย็น

โดยทั่วไปเครื่องที่ทำให้เกิดความเย็นทุกชนิดได้รับการออกแบบและกำหนดเทคนิคมาให้ใช้อย่างถูกวิธีจึงจะคงทนถาวร ฉะนั้น ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ใช้ตู้แช่เย็นควรจะได้รับทราบข้อควรปฏิบัติต่อตู้เย็นดังต่อไปนี้

  1. การจัดสถานที่วางตู้แช่เย็น การวางตู้แช่เย็นที่ไม่ถูกต้องเป็นสาเหตุข้อหนึ่งที่ทำให้ตู้เย็นมีอายุสั้นลง ควรจัดวางตู้เย็นในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้แผงระบายความร้อนด้านหลังตู้เย็นอยู่ห่างข้างฝาประมาณ 6 นิ้วเป็นอย่างน้อย อย่าให้มีม่านหน้าต่าง ม่านประตูอยู่ใกล้แผงระบายความร้อน ซึ่งจะทำให้การถ่ายเทอากาศไม่ดีพอ เครื่องของตู้เย็นจะต้องทำงานหนัก อย่าตั้งตู้เย็นไว้ใกล้บริเวณที่เป็นต้นกำเนิดความร้อน เช่น เตาหุงข้าว เตาแก๊ส หรือใกล้บริเวณที่เปียกชื้น ฐานรองรับตู้เย็นต้องแข็งแรงมั่นคงเมื่อเปิดปิดตู้เย็นต้องไม่โคลงหรือกระเทือนจนเกินไป
  2. จัดเตรียมกระแสไฟฟ้าและกำลังไฟฟ้าให้ถูกต้อง แม้ว่าปัจจุบันตู้เย็นจะออกแบบไว้สำหรับใช้กับไฟฟ้า 220 โวลท์โดยทั่วๆ ไปก็ตาม แต่ยังมีตู้เย็นบางตู้ ที่ใช้ไฟฟ้า 100 โวลท์หลงเหลืออยู่บ้าง เมื่อซื้อไปครั้งแรกควรระวังจัดเตรียมแรงดันไฟฟ้าให้ถูกต้องตามที่ตู้เย็นนั้นๆ ได้รับการออกแบบมา โดยอาจใช้เครื่องแปลงแรงดันไฟฟ้าเข้าเสริม ปลั๊กควรอยู่สูงไม่ต่ำกว่าระดับ 1.25 เมตร เพื่อป้องกันบุตรหลานของท่านจับต้องเอาสิ่งของอย่างอื่นแหย่เข้าไป ซึ่งย่อมเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และปลั๊กควรต้านกระแสไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 250-300 วัตต์
  3. กรณีสายไฟหลุดจากเต้าเสียบ (ปลั๊ก) ในขณะที่ตู้เย็นทำงานอยู่ ควรปล่อยรอทิ้งไว้ประมาณ 3-4 นาที อย่าเสียบกลับเข้าไปทันที เพราะลูกสูบอัดแก๊สฟรีออนในคอมเพรสเซอร์อาจค้างอยู่ในจังหวะอัด และโดยเหตุที่แก๊สฟรีออนมีแรงดันมากหากจ่ายไฟฟ้าให้ตู้เย็นทำงานทันที จะเกิดการกระแทกอย่างแรง ระหว่างแก๊สฟรีออน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อตู้เย็น
  4. ตรวจดูฝาตู้เย็นปิดสนิทหรือไม่ ถ้าไม่สนิทจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้า ทดลองโดยนำแผ่นกระดาษบางๆ มาปิดทับแล้วดึงกระดาษออก ถ้าดึงออกได้คล่องแสดงว่าการปิดของฝาไม่สนิทจะต้องแก้ไขโดยการเปลี่ยนยางรอบฝาเสียใหม่ให้ปิดได้สนิทขึ้น
  5. ตรวจแผงระบายความร้อน ซึ่งเป็นแผงโลหะอยู่ด้านหลังตู้เย็น จะต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ การระบายความร้อนจึงจะเป็นไปด้วยดี อย่าปล่อยให้สกปรกหรือฝุ่นเกาะจนหนาจะทำให้สิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้าเช่นกัน
  6. อย่าแช่ของมากจนแน่นตู้ เพราะจะทำให้การถ่ายเทอากาศภายในตู้ไม่สะดวก ของที่แช่ก็จะเย็นไม่ทั่วถึง จะเย็นเฉพาะใกล้ๆ กับช่องแช่แข็งเท่านั้น บริเวณอื่นจะไม่เย็น เครื่องควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติก็จะไม่ตัดวงจร ทำให้เครื่องทำงานตลอดเวลาและก็ให้เกิดความสิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้า
  7. ปรับลดหรือเพิ่มอุณหภูมิของตู้เย็นให้เหมาะสมกับอาหารที่แช่ไว้
  8. อย่าปล่อยให้น้ำแข็งจับที่ช่องแช่แข็งจนหนา ควรหมั่นละลายน้ำแข็งบ่อยๆ
  9. อย่าปิด-เปิดตู้เย็นบ่อยครั้งจนเกินไป การเปิดตู้เย็นครั้งหนึ่งความเย็นภายในตู้จะกระจายออกมา อากาศร้อนข้างนอกจะเข้าไปแทนที่ ทำให้เครื่องต้องทำงานมากขึ้น เมื่อเปิดแล้วต้องรีบปิด
  10. ปรับระดับให้เหมาะสม เวลาตั้งตู้เย็นให้ปรับระดับด้านหน้าของตู้เย็นสูงกว่าด้านหลังเล็กน้อย เพื่อเวลาเปิดน้ำหนักของประตูตู้เย็นจะถ่วงให้ประตูปิดเข้าไปเอง
  11. ของร้อนต้องรอให้เย็นก่อนเอาเข้าตู้ ถ้านำของร้อนๆ ไปแช่ตู้เย็น จะทำให้ตู้เย็นต้องทำงานหนักเพราะต้องลดอุณหภูมิลงให้เย็น ยิ่งร้อนมากยิ่งต้องทำงานมาก
  12. ควรจะต่อสายไฟจากตู้ (ส่วนล่างของตู้ที่เป็นโลหะ) ให้ลงดินไว้เสมอเพื่อความปลอดภัย



ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *