Solar Leasing (Power Purchase Agreement)

Solar Leasing (Power Purchase Agreement)

ปัจจุบันการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นตามบ้านเรือน อาคารพาณิชย์ หรือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ แผงโซล่าเซลล์ในท้องตลาดก็มีราคาถูกลงมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้การลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์มีความคุ้มค่ามากขึ้น รูปแบบธุรกิจที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำเสนอคือ EPC หรือ Engineering, Procurement and Construction รูปแบบธุรกิจดังกล่าวเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเพราะลูกค้าไม่ต้องไปเลือกหาซื้อแผงโซล่าเซลล์เอง และไม่ต้องไปหาผู้รับเหมามาทำการออกแบบและติดตั้งแผงให้ พูดง่ายๆ ก็คือ ลูกค้าจ่ายเงินก้อนหนึ่งไปเพื่อแลกกับระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้งานได้ทันที คนส่วนมากจะคิดว่าเรื่องราวก็จบลงเพียงเท่านี้ ระบบโซล่าเซลล์ที่ซื้อมาก็จะทำงานเพื่อผลิตไฟฟ้าไปวันแล้ววันเล่า ค่าไฟที่ประหยัดได้ในแต่ละวันก็จะค่อยๆ ถอนทุนคืนจนคุ้มทุนและมีกำไรในที่สุด แต่ในความเป็นจริงนั้น วันแรกที่ระบบแผงโซล่าเซลล์ทำงานเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

หลังจากที่ระบบโซล่าเซลล์เริ่มทำงานแล้ว สิ่งที่ลูกค้าต้องให้ความสำคัญคือเรื่องของการตรวจสอบ การทำความสะอาด และการซ่อมบำรุง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะต้องใช้ทรัพยากรของลูกค้าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรบุคคล เวลา หรือหากคิดจะว่าจ้างผู้อื่นมาดูแล ก็จะต้องใช้เงินในการว่าจ้าง ทรัพยากรที่ต้องเสียไประหว่างการทำงานของระบบนั้นเป็นสิ่งที่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงเวลาที่คำนวณความคุ้มค่าของการลงทุน ทำให้อาจไม่ได้รับรู้ถึงความเสี่ยงของการลงทุนในรูปแบบนี้โดยสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการคิดค้นรูปแบบธุรกิจที่เรียกว่า Solar Leasing หรือการเช่าพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้น โดยลูกค้าจะทำ Power Purchase Agreement หรือสัญญาการซื้อพลังงานกับผู้ประกอบการ โดยทั่วไปสัญญาจะมีอายุ 20-25 ปี ผู้ประกอบการจะเป็นผู้ให้บริการไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แก่ลูกค้าที่ราคาที่ตกลงกันไว้ โดยราคาดังกล่าวจะต่ำกว่าค่าไฟที่ลูกค้าจ่ายอยู่ในปัจจุบันและจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งอยู่ในสถานประกอบการของลูกค้า (ส่วนใหญ่จะเป็นบนหลังคา) ทางผู้ประกอบการจะเป็นผู้จัดซื้อ ติดตั้ง และดูแลการทำงานของระบบทั้งหมดโดยที่จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เกิดขึ้นกับลูกค้า นอกจากค่าไฟที่ซื้อจากทางผู้ประกอบการตามที่ผลิตและใช้ได้จริง จะเห็นได้ว่า ด้วยรูปแบบดังกล่าว ลูกค้าจะแทบไม่เหลือความเสี่ยงเลย ความเสี่ยงเดียวที่เหลืออยู่คือการลดลงของราคาค่าไฟในอนาคต ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก (ข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวงระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3%)

Solar Leasing สามารถช่วยให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ตั้งแต่วันแรกที่ติดตั้ง สามารถทำให้ลูกค้ามีพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดใช้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินลงทุน และเป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงน้อยเมื่อเทียบกับรูปแบบธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์อื่นๆ ด้วยความได้เปรียบดังกล่าว รูปแบบธุรกิจ Solar Leasing จึงได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ

 

ตารางเปรียบเทียบรูปแบบธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับลูกค้า

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *